นามสกุลกับการแบ่งชนชั้นในสังคมไทย
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในวัยกางเกงขาสั้น
จากกากีสู่สีดำ ต่างคนต่างหาที่เรียนกันจาระวัน ร่วมถึงผู้เขียนเองด้วย
ด้วยความที่ตั้งใจอย่างแน่วแน่จะเข้าในสถาบันแห่งหนึ่ง วันที่รอคอยก็มาถึง เหลืออีกด่านเดียว สอบสัมภาษณ์
ซึ่งช่างเป็นอะไรที่ใช้วิชาการอย่างเดียว คงจะไม่พอ พอนั่งลงบนเก้าอี้ พร้อมกับเพื่อนอีกสองคน
สายตากรรมการดูเอกสาร แล้วยิงคำถามแรกไปที่คนอยู่ข้างซ้าย “เอ้า!... นามสกุล... เธอเป็นลูกของ....
หรือเปล่า พ่อเธอสบายดีไหม
ช่วงนี้คงงานหนัก ไม่ติดต่อมาเลย “ และบทสนทนาก็จบลงเพียงเท่านั้น
ด้วยความที่ผู้เขียนเองยังสับสนว่าคำถามช่างต่างจากที่เราเคยได้ยินมา
เมื่อได้ยินดังนั้น ผู้เขียนก็สามารถคาดเดาแล้วว่า คนนั้นผ่านแน่นอน แล้วอย่างเราล่ะ!
คงต้องเป็นพึ่งโชคชะตาและความสามารถล้วนๆ
เมื่อมาถึงทุกวันนี้
ผู้เขียนเองต้องดำรงอยู่กับสังคมที่สร้างค่านิยม
แบบไร้เหตุผลของความเป็นจริง
ซึ่งนั้นเป็นตัวการสำคัญของการตัดทอนโอกาสของคนที่มีความสามารถ หากจะกล่าวถึงวิถีชีวิตคนไทยซึ่งผูกพันกับการตั้งชื่อก็มีขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัย
เพราะเป็นสมัยที่รวมชาติเป็นปึกแผ่น มีลายลักษณ์อักษร
เรื่อยมาจนกระทั่งล้นเกล้า รัชกาลที่ ๖ ทรงวางแนวทางหนึ่งของการจัดระเบียบบ้านเมืองในแบบตะวันตก คือทรงดำริให้คนไทยทุกคนต้องมีทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล
พระองค์ทรงวางหลักสำคัญในการสืบสกุลไว้โดยถือเอาสายสัมพันธ์ทางบิดาผู้ให้กำเนิดแต่ฝ่ายเดียว ทรงออกพระราชบัญญัติขนานนามสกุลฉบับแรก
ขึ้นพ.ศ.๒๔๕๖ กำหนดหลักการมีชื่อตัวและชื่อสกุลไว้เป็นการเหมาะสม เช่น
มาตรา ๑๓
กำหนดให้เสนาบดีมีหน้าที่คิดชื่อสกุลและพิมพ์เป็นเล่มให้นายอำเภอทุกท้องที่ เพื่อเป็นเค้าให้ราษฎรได้เลือกถือชื่อสกุลที่เหมาะสม
นอกจากนี้พระองค์ยังได้พระราชทานนามสกุลสำหรับเชื้อพระวงศ์ ข้าราชการ ตลอดจนถึงคนสำคัญทั่วไป
เพื่อให้มีนามสกุล ใช้เป็นเกียรติเป็นมงคลแก่ผู้สืบสกุลต่อไป
เมื่อจะพระราชทานนามสกุลแก่ผู้ใดพระองค์จะทรงศึกษาให้ทราบถึงความเกี่ยวดองซึ่งกันและกันของแต่ละสกุลโดยละเอียด
หากทรงพบว่าบรรพบุรุษได้ทำคุณงามความดีมีวิทยฐานะและอาชีพอะไร
จะทรงจัดสรรคำให้ได้มงคลนามต่างๆ ขึ้นให้ไพเราะเหมาะสม และแยกพวกเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงไว้ฝ่ายหนึ่ง
ส่วนขุนนาง ข้าราชบริพาร ก็ทรงจำแนกออกเป็นประเภทต่างๆ มีรกรากปกครองบ้านเมืองมาแต่ก่อนเก่า
ก็ทรงขนานนามสกุลให้เป็นผู้มาจากแหล่งต่างๆ เช่น ณ
ระนอง, ณ ถลาง, ณ
เชียงใหม่, ณ สงขลา ฯลฯ
หรือถ้าสกุลเป็นทหาร ก็จะมีคำว่า โยธิน เสนาณรงค์ เป็นต้น
ถ้าเคยรับราชการเกี่ยวกับกรมม้า
ก็จะมีคำว่า
อัศว และถ้าเกี่ยวกับช้างก็ใช้คำว่า คช
คชา หัสศ เป็นต้น
ส่วนผู้มีอาชีพทางแพทย์ก็มีคำว่า วิทย์ เวช
แพทย์ ถ้าเป็นครูบาอาจารย์ มักจะมีคำว่า
บัณฑิตย์ คุรุ แต่ถ้าเป็นพ่อค้าก็มีคำว่า
วานิช ถ้าเป็นทหารเรือก็มีคำว่า นาวี
นาวิน ชล ชลา ถ้าเกี่ยวกับ การเงินก็มีคำว่า ธน ประกอบ ฯลฯ
สาเหตุที่ล้นเกล้า รัชกาลที่ ๖
ทรงพระราชทานนามสกุล เพราะพระราชประสงค์ให้มีนามสกุล
นอกจากเพื่อสะดวกในการจัดทำทะเบียนสำมโนครัวแล้ว
ยังทรงมุ่งหมายให้นามสกุลเป็นเครื่องรำลึกถึงเกียรติประวัติของบรรพบุรุษผู้เป็นต้นสกุล ซึ่งนอกจากลูกหลานจะภาคภูมิใจแล้วยังต้องมีหน้าที่รักษาเกียรติวงศ์สกุลไว้ด้วย กล่าวง่ายๆ ก็คือ
ให้คนนึกสังวรณ์ถึงเกียรติประวัติของวงศ์สกุลซึ่งจะช่วยลดการกระทำผิดคิดร้าย
ทรงพระราชทานในครั้งแรกทั้งหมด
๖ สกุล ดังนี้
๑) สุขุม
พระราชทานเจ้าพระยายมราช (ปั้น)
เสนาบดีกระทรวงนครบาล
๒) มาลากุล พระราชทานเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี
(ม.ร.ว.เปีย)
๓) พึ่งบุญ พระราชทานเจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ)
และพระยาอนิรุทธเทวา (ม.ล.ฟื้น)
๔) ณ มหาไชย พระราชทานพระยาเทพทวาราวดี (สาย)
๕) ไกรฤกษ์ พระราชทานพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ)
๖) กัลยาณมิตร
พระราชทาน เจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ (เชย)
ในปัจจุบันสามารถขอนามสกุลพระราชทานได้
แต่ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด เช่น การทำคุณงานความดีแก่บ้านเมือง อายุ เชื้อชาติ
หน้าที่การงาน เหตุผลที่ขอพระราชทาน เป็นต้น
ส่วนของนามสกุลพระราชทานที่คุ้นชินกันทั่วไป อย่างเช่น
สนิทวงศ์ ณ อยุธยา, อิศรางกูร ณ อยุธยา,
ณ นคร, ณ ป้อมเพชร์, เวชชาชีวะ,
บุญยรัตกลิน, สุนทรเวช, รัตนดิลก เป็นต้น
แล้วชาวนา ชาวไร่
กรรมกรหาเช้ากินค่ำล่ะ? พวกเขาคิดยังไงกับนามสกุลของตน
หรือมีไว้เพียงแค่ตามประเพณีนิยม กฎหมาย
บรรทัดฐานทางสังคม และความภาคภูมิใจเพียงใด
ถ้าหากจะตั้งคำถามถึงอิทธิพลของอักษรไม่กี่บรรทัด
ที่ปรากฏในบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารสำคัญแล้วล่ะก็ หลายต่อหลายคนก็ยังคิดว่า
วลีที่ต่อท้ายชื่อเรามันทรงอิทธิพลต่อตัวเรามากน้อยเพียงไหน โดยเฉพาะสามัญคนธรรมดาทั่วไป
ที่ใช้นามสกุลแปลกๆ สั้นๆ บางทีซึ่งไร้ความหมาย
ช่างต่างจากนามสกุลพระราชทาน ที่ดูเหมือนเป็นการแบ่งชนชั้นทางสังคม
เพราะจะเห็นได้จากคุณสมบัติการขอพระราชทาน
หรือ ค่านิยมความเชื่อที่ว่า ชนชั้นที่มีสกุลยาวๆ ไพเราะเพราะพริ้ง
ต้องเป็นบุคคลที่มีเกียรติ บารมี
ฐานะทางเศรษฐกิจดี มีอำนาจ มีหน้าที่ทางสัมคมสูง เป็นที่รู้จัก
หากจะว่าด้วยบรรทัดฐานทางสังคม
เรื่องของกฎหมาย สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ คนไทยทุกคนต่างก็มีสิทธิเท่าเทียมกับ
โดยไม่แบ่งเพศ เชื้อชาติ ศาสนา สามารถแสดงความคิดเห็นได้แต่อยู่ภายใต้การเคารพกฎหมาย
แต่นั้นก็เป็นเพียงแค่หนังสือที่อยู่ในอุดมคติ ถูกซ่อนไว้ในลิ้นชัก
นำมาอ่านครั้งเดียว แต่ไม่ปฏิบัติเป็นแบบอย่างแก่สังคม คนรากหญ้าเองจะเข้าใจมากน้อยเพียงใดกับหนังสือเล่มนั้น?
อย่างทุกวันนี้ เหล่าไฮโซคนดังทั้งลาภ ยศ เกียรติ อำนาจ
แต่งกายเสื้อผ้าหน้าผม เครื่องประดับ ต้องไฟระยิบระยับในตอนนี้
ทำให้ผู้เขียนเองฉุกคิด ตั้งคำถามว่าทำไม
สังคมถึงได้มีวิถีชีวิตต่างกันถึงเพียงนี้
จากไฮโซผมตีโป่ง ที่ผู้คนต่างแย่งกันไหว้ ฉีกยิ้ม ตีสนิท ช่างต่างจากหญิงแก่ชราอีกคนที่หาบเร่
ของหนักๆ เบียดเสียดคน ทำกับกิจการส่วนตัว
ในมุมเล็กๆข้างกำแพง สามารถพบเห็นทั่วกรุงเทพ
รอชายแต่งกายชุดเข้มขรึมมาไล่ วิ่งหนีกะเซอะกะเซิง พะรุงพะรัง
กับข้าวของแทบไม่ทัน ช่างเป็นภาพที่หดหู่เหลือเกิน
ถ้าจะถามว่าชนชั้นในปัจจุบันยังมีอยู่ใหม่? หลายคนคงต่างแย่งกันตอบแน่
“ไม่”! ”ไม่มีหรอก”! ”ยกเลิกทาสตั้งแต่ ร.๕ แล้ว”! ”บ้านเมืองเข้าเจริญหมดแล้ว”!
แต่ผู้เขียนลองกลับมาคิดดูดีๆ แล้ว
ชนชั้นในสังคมไทยยังไม่จางเลือนรางหมดสิ้นแน่แท้ !
ทำไมนะหรอ! เนื่องจากสังคมไทยยังมีการปลูกฝั่งค่านิยมแบบผิดๆ
ซึ่งเขารู้ว่าถูกต้อง แต่เนื่องด้วยผลประโยชน์ไฉน ก็ไม่สามารถร่วงรู้ได้
หรือเกรงกลัวอำนาจ บารมี ก็ไม่อาจคาดคะเนได้ เช่นกัน
โดยชนชั้นในสังคมไทยแบ่งในทุกวันนี้
ใช้ อาชีพหน้าที่การงาน เป็นหลักในการแบ่ง
ซึ่งไม่เป็นทางการ แต่จะมาจากความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ ประเพณีนิยม
หลักเคารพบูชา และอิทธิพลเรื่องของนามสกุลก็กัดกินความเชื่อเหล่านี้ด้วย
อย่างการไปสมัครงาน หรือ
ติดต่อราชการ ชื่อ สกุล คือสิ่งแรกที่ถูกอ่าน ซึ่งแน่นอนกลุ่มคำที่ต่อท้ายชื่อเรา
ย่อมสื่อถึงพื้นเพของเราเอง พูดง่ายๆ คือ
เป็นเหมือนภาษีด่านแรกของการดำเนินชีวิตก็ว่าได้
ยิ่งนามสกุลยาวเท่าไหร่ เพราะพริ้ง
เครดิตการงานลุล่วงง่ายขึ้น
นี้ทำให้ความสามารถถูกมองข้ามโดยพลัน
ผู้เขียนเสนอคำง่ายๆ สั้นๆ คำว่า ค่านิยม
เป็นอะไรที่น่ากลัวมาก ถ้ามีการปลูกฝังมาในแบบที่ไร้เหตุผล ซึ่งกลับเป็นตัวการสำคัญให้เกิดการเบียดเบียนซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะ
เรื่องของค่านิยมนามสกุลยาวๆ ซึ่งก็ไม่ผิดแน่นอน เป็นสิทธิส่วนบุคคลที่จะภาคภูมิใจของตนเอง
ยิ่งถ้าเป็นราชกุลซึ่งย่อมสืบเชื้อสายมาจากพระราชวงศ์หรือข้าราชบริพาร
ที่ทำความดีให้กับประเทศชาติมา ก็ยิ่งจะมีความภูมิใจยิ่งขึ้นเป็นธรรมดา
"โดยแท้จริงแล้วการที่เรามีความพยายามโดยใช้กำลังสติปัญญาของเราย่อมดีเลิศที่สุด เเต่ที่สำคัญไม่ว่าเราจะอยู่ชนชั้นใด ตัวชี้วัดที่สำคัญคือระดับจิตใจที่สูงต่ำของเเต่ละคนที่จะบ่งบอกว่าเราอยู่ชนชั้นไหน
คนที่มีชนชั้นสูงๆ เเม้จะสูง นามสกุลยาวแค่ไหน เเต่กลับคิดถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ก็ยังถือว่าเเย่กว่าคนที่อยู่ชนชั้นต่ำ เเต่จิตใจสูง"
การนับพยางค์ท้ายชื่อมาตัดสินอะไรง่ายๆ ถ้าทำไม่ดีมากๆ
หรือไม่สั่งสมความดีเพิ่มความดีของบรรพบุรุษที่ทำมาในที่สุดก็ปิดไม่มิด
ซึ่งก็ไม่ต่างจากสามัญนามสกุลทั่วไป
ชื่อเสียง อำนาจ บารมี เกียรติยศ เงินทอง
มันไม่จีรังยั่งยืน ต่อให้เป็นคนที่อยู่ในตระกูลสูงแค่ไหนนามสกุลยิ่งใหญ่เก่าแก่จากที่ไหน
อยู่ชนชั้นใด ทุกอย่างในโลกนี้เป็นเรื่องสมมติเอาทั้งนั้น สุดท้ายและท้ายที่สุดในตอนจบ ก็แค่กล่องสี่เหลี่ยมขนาดเท่าตัวเหมือนกันหมดทุกคนนั่นแล